วันพุธที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๗ เวลา ๑๖.๓๐ น. ตามเวลามาตรฐานของประเทศศรีลังกา พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ เป็นประธานนำคณะผู้บริหารวิทยาลัยพระธรรมทูต บัณฑิตวิทยาลัย และกองวิเทศสัมพันธ์ มจร ถวายสักการะบูชา พระมหาเจดีย์ วัดอภัยคีรีวิหาร เมืองอนุราธะปุระ
พระพรหมวัชรธีราจารย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บัญชาให้ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ เดินทางเยือนวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติประเทศศรีลังกา (Srilanka lnternational Buddhist Academy, Kandy-Srilanka) สถาบันสมทบ มจร ระหว่างวันที่ ๙-๑๒ กันยายน ๒๕๖๗ ตามคำอาราธนาของวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติศรีลังกา และคณะสงฆ์สยามวงศ์ ประเทศศรีลังกา
โอกาสนี้ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร มจร ได้ถวายสักการะบูชา พระมหาเจดีย์ วัดอภัยคีรีวิหาร เมืองอนุราธปุระ
วัดอภัยคีรีวิหาร เป็นวัดเถรวาท มหายาน และวัชรยาน ตั้งอยู่ที่เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา ในความอุปถัมภ์ของพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย เป็นวัดที่มีชื่อคู่กันกับวัดมหาวิหาร มีอายุอยู่ในราวสมัยพุทธศตวรรษที่ ๔ ซึ่งเป็นยุคสมัยแรก ๆ ที่มีการจารพุทธพจน์ลงในใบลาน วัดอภัยคีรีวิหารมีพระภิกษุจำนวนมาก มีเจดีย์ปราสาท ศาสนวัตถุ และระบบชลประทานที่ก้าวหน้าภายในสำนัก ซึ่งเหตุการณ์ตามการศึกษาประวัติศาสตร์กล่าวว่า วัดสำนักอภัยคีรีวิหารและวัดในสำนักมหาวิหาร ได้ชื่อว่าแยกออกจากกันชัดเจนยิ่งขึ้นในสมัยนี้ เพราะการจลาจลในราชสำนักและการที่คณะสงฆ์อภัยคีรีให้ความช่วยเหลือพระเจ้าวัฏฏคามิณีอภัย
สำนักอภัยคีรีวิหารเป็นแหล่งกำเนิดคัมภีร์วิมุตติมรรค อันเป็นปกรณ์[4]หนึ่งที่มีความสำคัญของพุทธศาสนาเถรวาท คณาจารย์ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูของสำนักอภัยคีรีวิหาร ชื่อ พระอุปติสสะเถระ ผู้รจนาคัมภีร์วิมุตติมรรคไว้เป็นแบบ และพระสังฆมิตตเถระผู้โต้วาทีมีชัยชนะเหนือคณะสงฆ์สำนักมหาวิหาร และเหตุการณ์ในสมัยนั้นยังปรากฏว่าพระจักรพรรดิจีนได้จัดราชทูตมาทูลขอภิกษุณีสงฆ์สำนักอภัยคีรีวิหารไปเพื่อประดิษฐานพระศาสนาด้วย พระเถรีผู้เป็นหัวหน้าคณะภิกษุณีในครั้งนี้คือพระเทวสาราเถรี พระภิกษุณีสงฆ์ในสายนี้มีการสืบต่อกันเรื่อยมาในชื่อว่านิกายธรรมคุปต์ และได้มีวัดภิกษุณีแห่งแรกในประเทศจีน ที่พระจักรพรรดิถวายนามว่าวัด วินฟุ (Vinfu Monastery)
ภายในวัดอภัยคีรีวิหาร มีรูปปั้นของหลวงจีนฟาเหียน ตามประวัติศาสตร์ หลวงจีนฟาเหียน เดินทางมาศรีลังกาในกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๐ และท่านเล่าไว้ว่า อภัยคีรีวิหารมีพระภิกษุ ๕ พันรูป ส่วนมหาวิหารมีพระภิกษุ ๓ พันรูป ช่วงเวลาระยะนี้นับว่าลังกาได้กลายเป็นศูนย์กลางสําคัญแห่งหนึ่งของพุทธศาสนา วัดต่างๆ มีชื่อเสียงว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษา ทําให้มีปราชญ์จากแดนไกลมาเล่าเรียนค้นคว้าจำนวนมาก
พระครูสุตรัตนบัณฑิต ผู้อำนวยการวิทยาลัยพระธรรมทูต พระครูใบฎีกาแสงเฮือง นรินฺโท รองผู้อำนวยการวิทยาลัยพระธรรมทูต ฝ่ายบริหาร พระมหาโกศล ธีรปญโญ ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ พระสิริวรรณะ สิริวณฺโณ รองผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ Venerable Ariyaratana Thero รศ.ดร.ประพันธ์ ศุภษร รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และนายลิขิต บุญละคร นักวิชาการศึกษา กองวิเทศสัมพันธ์ ร่วมถวายสักการะบูชาในการนี้ด้วย
พร้อมกันนี้ พระธรรมาจารย์เจี้ยนหวิ่น และพระธรรมาจารย์ซิงเจิน วัดจงไถซาน กรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นเกียรติถวายสักการะบูชา พระมหาเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วยฯ